ภัยจากความเสน่หา

          ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในตระกูลเศรษฐี มีแม่โคนมหลายพันตัว ซึ่งโคบาลนำไปเลี้ยงไว้ในป่าแห่งหนึ่งในฤดูข้าวกล้า ครั้งนั้นนายโคบาลนำน้ำนมโคมาให้ เมื่อเศรษฐีเห็นน้ำนมโคใสผิดปกติ จึงถามถึงสาเหตุ นายโคบาลเล่าว่าพวกแม่โคนมกลัวราชสีห์ตัวหนึ่ง ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าใกล้ๆ ทำให้ซูบผอมผิดปกติ พระโพธิสัตว์ถามว่าราชสีห์นั้นมีความสนิทสนมกับสัตว์ประเภทใด ก็ได้รับคำตอบว่าสนิทสนมกับแม่เนื้อตัวหนึ่ง จึงสั่งให้จับแม่เนื้อตัวนั้น ทายาพิษทั่วร่างให้แห้ง แล้วทาซ้ำๆ อีก ให้ขังแม่เนื้อไว้ ๒ - ๓ วันแล้วจึง ค่อยปล่อย แม่เนื้อนั้นไป พอปล่อยแม่เนื้อไปไม่ทันใดราชสีห์ ก็รีบมาคลอเคลีย และเลียที่ร่างของแม่เนื้อด้วยความเสน่หา และสิ้นชีวิตลงในเวลาต่อมา

เมื่อเศรษฐีโพธิสัตว์ทราบเหตุนั้นแล้ว จึงได้กล่าวเป็นสุภาษิตออกมาว่า

" บุคคลไม่ควรไว้วางใจในผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน
แม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้ว ก็ไม่ควรไว้วางใจ
ภัยย่อมมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของ
ราชสีห์เกิดจากแม่เนื้อ ฉะนั้น "


จบ อรรถกถาวิสสาสโภชนชาดกที่ ๓ เอกนิบาต ลิตตวรรค ข้อ ๙๓
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒

 

กลับหน้าแรก